วันพุธที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ผลของการปฏิวัติในช่วงแรก 

การยุติเอกสิทธิ 

สมัชชาแห่งชาติประกาศว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน และเลิกเอกสิทธิการงดเว้นภาษีของนักบวช รวมทั้งให้ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมในการประกอบอาชีพ ภายหลังจากการลงมติของสภาฯ ไม่กี่วันก่อนหน้านี้ คือวันที่ 3-4 สิงหาคม 1789 ซึ่งได้รับมติสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากสมาชิกสภา

คำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง 

เป็นคำประกาศที่ปูทางไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากปรัชญาในยุคเรืองปัญญา และคำประกาศนี้ได้แบบอย่างจากรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา คำประกาศนี้ผ่านการพิจารณาของสภาฯ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1789 มีเนื้อหาหลักแสดงถึงหลักการพื้นฐานของการปฏิวัติ ภายใต้คำขวัญที่ว่า "เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ"
ในขณะนั้นมีข่าวลือในหมู่ประชาชนว่าจะมีการยึดอำนาจคืนของฝ่ายนิยมระบอบเก่าเมื่อชาวปารีสรู้ข่าวก็มีการตื่นตัวกันขนานใหญ่ ดังนั้นประชาชนชาวปารีสซึ่งส่วนมากเป็นผู้หญิง ได้เดินขบวนไปยังพระราชวังแวร์ซายและเชิญพระเจ้าหลุยส์พร้อมทั้งราชวงศ์มาประทับในกรุงปารีส ในวันที่ 5-6 ตุลาคม ปีเดียวกัน โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่อนุรักษ์นิยมตามเสด็จกลับกรุงปารีสด้วย
สำหรับสมัชชาแห่งชาติ ในขณะนั้นประกอบด้วยสมาชิกที่หัวก้าวหน้าเป็นส่วนมาก แต่มีภารกิจสำคัญอันดับแรกของสภาคือการดำรงสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ ดังนั้นจึงยังไม่มีการโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ในขณะนั้น

การปฏิรูปครั้งใหญ่ 

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของฝรั่งเศสมีผลบังคับใช้เมื่อปลายปี ค.ศ. 1789 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังต่อไปนี้
  • ตำแหน่งต่าง ๆ ในราชการไม่สามารถตกทอดไปยังลูกหลาน
  • ยุบมณฑลต่าง ๆ, แบ่งประเทศออกเป็น 83 เขต (départements)
  • ก่อตั้งศาลประชาชน
  • ปฏิรูปกฎหมายฝรั่งเศส
  • การเวนคืนที่ธรณีสงฆ์ แล้วนำมาค้ำประกันพันธบัตร ที่ออกเพื่อระดมทุนจากประชาชน มาแก้ไขปัญหาหนี้ของประเทศ

การปฏิรูปสถานะของนักบวช 

นอกจากที่ธรณีสงฆ์จะถูกเวนคืนแล้ว การปกครองคริสตจักรในประเทศฝรั่งเศสก็ยังถูกเปลี่ยนแปลง ตามกฎหมายการปกครองคริสตจักรฉบับใหม่ที่ออกเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1790 โดยใช้การปกครองประเทศเป็นแม่แบบ คือกำหนดจำนวนมุขนายก (évêque) ไว้มุขมณฑลละ 1 ท่าน และให้เมืองใหญ่แต่ละเมืองมีอัครมุขนายก(archévêque) 1 ท่าน โดยมุขนายกและอัครมุขนายกแต่ละท่านจะถูกเลือกโดยสมัชชาแห่งชาติ และได้รับเงินเดือนจากรัฐบาล นอกจากนี้ ผู้ที่จะมาเป็นนักบวชในทุกระดับจะต้องสาบานตนว่าจะจงรักภักดีต่อประเทศอีกด้วย

การจับกุม ณ วาแรน 

มีข่าวลือสะพัดอย่างหนาหูว่า พระนางมารี อ็องตัวแน็ตนั้น ได้แอบติดต่อกับพระเชษฐา คือจักรพรรดิลีโอโพลด์ที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อจะให้ทรงยกทัพมาตีฝรั่งเศสและคืนอำนาจให้ราชวงศ์ ฝ่ายพระเจ้าหลุยส์นั้นไม่ได้ทรงพยายามหนีออกนอกประเทศหรือรับความช่วยเหลือ แต่จะทรงหนีไปตั้งมั่นอยู่กับนายพลบุยเล่ ที่จงรักภักดีและสัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือแก่พระองค์ พระองค์เสด็จออกจากพระราชวังตุยเยอรีในคืนวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1791 แต่ทรงถูกจับได้ที่เมืองวาแรน ในวันต่อมา ส่งผลให้ความเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อพระองค์นั้นลดลงอย่างมาก พระองค์ถูกนำตัวกลับมากักบริเวณในกรุงปารีส

การสิ้นสุดของสภาร่างรัฐธรรมนูญ 

แม้ว่าสมาชิกส่วนใหญ่ของสภาฯ จะนิยมระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ มากกว่าระบอบสาธารณรัฐก็ตาม แต่ ณ ขณะนั้น พระเจ้าหลุยส์ก็ไม่ได้มีบทบาทมากไปกว่าหุ่นเชิด พระองค์ถูกบังคับให้ปฏิญาณตนต่อรัฐธรรมนูญ และให้ยอมรับเงื่อนไขที่ว่า หากกระทำการใด ๆ ที่จะชักนำให้กองทัพต่างชาติมาโจมตีฝรั่งเศส หรือกระทำสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ให้ถือว่าพระองค์สละราชสมบัติโดยอัตโนมัติ
ขณะเดียวกันนั้น ฌอง ปิแอร์ บริสโซต์ ได้ร่างประกาศโจมตีพระเจ้าหลุยส์ มีสาระสำคัญว่า พระเจ้าหลุยส์ทรงสละราชสมบัติไปตั้งแต่พระองค์เสด็จออกจากพระราชวังทุยเลอรีส์แล้ว  ฝูงชนจำนวนมากพยายามเข้ามาใน ชอง เดอ มาร์ส เพื่อลงนามในใบประกาศนั้น ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้น สภาร่างรัฐธรรมนูญได้ขอร้องให้เทศบาลกรุงปารีสช่วยรักษาความสงบ แต่ไม่สำเร็จ ในที่สุด กองทหารองครักษ์ ภายใต้การบัญชาการของลาฟาแยตต์ ก็ได้เข้ามารักษาความสงบ ฝูงชนได้ปาก้อนหินใส่องครักษ์ ในช่วงแรก องครักษ์โต้ตอบด้วยการยิงขึ้นฟ้า แต่ไม่สำเร็จ จึงจำต้องยิงปืนใส่ฝูงชน ทำให้ประชาชนตายไปประมาณ 50 คน 
หลังจากการสังหารหมู่ครั้งนี้ ทางการก็ได้ดำเนินการปราบปรามพวกสมาคมนิยมสาธารณรัฐต่า งๆ รวมทั้งหนังสือพิมพ์ของพวกนี้อีกด้วย หนังสือพิมพ์เพื่อนประชาชน (l'ami du peuple) ของมาราต์ บุคคลที่มีแนวคิดแบบนี้เช่น มาราต์และเดสมูแลงต่างพากันหลบซ่อน ส่วนดังตงหนีไปอังกฤษ
ขณะที่ภายในฝรั่งเศสกำลังวุ่นวาย เหล่าราชวงศ์ของยุโรป โดยมีแกนนำคือพระมหากษัตริย์ปรัสเซีย จักรพรรดิออสเตรีย และพระอนุชาของพระเจ้าหลุยส์ ก็ได้ร่วมมือกัน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือให้พระเจ้าหลุยส์มีอิสรภาพสมบูรณ์และให้ยุบสมัชชาแห่งชาติ หากสิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้น ก็จะโจมตีฝรั่งเศสเพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมาย แต่ประชาชนชาวฝรั่งเศสไม่สนใจต่อคำประกาศดังกล่าว และเตรียมการต่อต้านอย่างแข็งขัน โดยส่งกำลังทหารไปยังชายแดน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น