วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ผู้ค้นพบแอสไพริน

ไหมว่ายาแอสไพรินถูกค้นพบในระหว่างการทดลองกับผลิตภัณฑ์เหลือใช้?

เฟรดริก ไบเออร์ เกิดในปี 1825 เขาเป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัวซึ่งมีลูกทั้งหมด 6 คน พ่อของไบเออร์เป็นช่างทอผ้าและย้อมผ้า และต่อมาไบเออร์ก็ได้เจริญรอยตามผู้เป็นพ่อเขา ในปี 1848 เขาเริ่มทำธุรกิจย้อมผ้าด้วยตัวเองและประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ก่อนหน้านี้ สีที่ใช้ย้อมผ้าทำมาจากวัสดุธรรมชาติทั้งหมด ต่อมาในปี 1856 มีผู้คิดค้นการใช้สีย้อมผ้าจากน้ำมันดินขึ้น ไบเออร์และเฟดริก เวสก็อตต์ ซึ่งเชี่ยวชาญการย้อมผ้า ต่างเห็นตรงกันว่าในอนาคตจะมีการใช้น้ำมันดินย้อมผ้ากันอย่างแพร่หลาย พวกเขาจึงตั้งบริษัทเฟดริกไบเออร์และเพื่อน ขึ้นในปี 1863 เพื่อผลิตสีย้อมผ้า
แอสไพรินของฮอฟฟ์แมนน์
ไบเออร์เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมปี 1880 โดยในเวลานั้นบริษัทของเขายังทำธุรกิจการย้อมผ้าอยู่เช่นเดิม บริษัทได้จ้างนักเคมีมาคิดค้นสีย้อมผ้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และในปี 1897 นักเคมีชื่อ เฟลิกซ์ ฮอฟฟ์แมนน์ ก็ทำงานที่ว่านั้น ขณะที่ฮอฟฟ์แมนน์นำวัสดุเหลือใช้จากส่วนประกอบของสีย้อมผ้าตัวหนึ่งมาทำการทดลองเพื่อหาทางบรรเทาโรคไขข้อที่กำลังคุกคามพ่อของเขาอยู่ ฮอฟฟ์แมนน์ได้ผงกรดซาลิซิลิกแบบคงรูปจากการสังเคราะห์เคมี สารประกอบดังกล่าวกลายมาเป็นสารออกฤทธิ์ในผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมอันน่าพิศวงชิ้นหนึ่ง นั่นคือ ยาแอสไพริน ตัว "a" ของชื่อยานี้มาจาก acetyl และ "spir" จากต้น spirea และต้น Meadowsweet (Filipendula ulmaria หรือที่รู้จักกันในชื่อ Spiraea ulmaria) ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของสารซาลิซิน
มีคนใช้ยานี้กันมานานถึง 3,500 ปีแล้ว
อย่างไรก็ตาม ฮอฟฟ์แมนน์ไม่ได้ค้นพบยา “แอสไพริน” เขาเป็นแต่ได้ “ค้นพบอีกครั้ง” หลังจากที่นักเคมีชาวฝรั่งเศส ชาร์ลส์ แชร์การ์ด ได้ศึกษาเกี่ยวกับกรดอะซิติลซาลิซิลิกมาก่อนเมื่อ 40 ปีที่แล้ว การทดลองของแชร์การ์ดในปี 1837 ได้ผลดี เพียงแต่ขั้นตอนนั้นยุ่งยากและใช้เวลามาก เขาตกลงใจว่าวิธีนี้ยังนำมาปฏิบัติจริงไม่ได้ เขาจึงพักเรื่องนี้ไว้ก่อน แต่แชร์การ์ดก็รู้ดีว่ากรดอะซิติลซาลิซิลิกเป็นตัวยาที่มหัศจรรย์เพียงใด เรื่องนี้รู้แจ้งชัดกันมานานกว่า 3,500 ปีแล้ว!
ช่วงต้นศตวรรษ 1800 จอร์จ เอ็บเบอร์ ชาวเยอรมันซึ่งเป็นนักค้นคว้าเกี่ยวกับอียิปต์ ได้ซื้อกระดาษปาปีรัสจากพ่อค้าข้างถนนชาวอียิปต์คนหนึ่ง กระดาษซึ่งรู้จักกันในชื่อ ปาปีรัสของอีเบอร์ ได้รวบรวมสูตรยาตั้งแต่สมัย 2,500 ปีก่อนคริสตกาลไว้กว่า 877 สูตร และได้แนะให้ใช้ใบเมอร์เทิลแห้งกินแก้โรคไขข้อและอาการปวดหลัง แม้แต่เมื่อ 400 ก่อนคริสตกาล ฮิปโปเครติสแห่งคอส บิดาแห่งวิชาแพทย์ แนะให้นำสารที่สกัดจากเปลือกต้นหลิวมาใช้รักษาอาการไข้ แก้ปวด และใช้ในการคลอดบุตร ในสารสกัดนี้มีสารออกฤทธิ์ที่ช่วยบรรเทาความเจ็บปวด ซึ่งก็คือกรดซาลิซิลิกที่เรารู้จักกันทุกวันนี้นั่นเอง ความมหัศจรรย์ของพืชสารที่มีส่วนประกอบของกรดซาลิซิลิกนี้เป็นที่รับรู้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว ทั้งในจีน เอเชีย ชาวอินเดียแดงในอเมริกาเหนือ และชาวฮอตเท็นทัตในแอฟริกาใต้
การค้นพบครั้งสำคัญ
แม้ว่าสารสกัดจากเปลือกต้นหลิว หรือกรดซาลิซิลิก จะช่วยบรรเทาปวด แต่สารนี้จะทำให้ผนังกระเพาะอาหารและปากระคายเคืองอย่างรุนแรง การค้นพบครั้งสำคัญของฮอฟฟ์แมนน์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 1897 เมื่อเขาสังเคราะห์กรดอะซิติลซาลิซิลิกจากสารเคมีบริสุทธิ์ 100% ซึ่งปลอดกรดซาลิซิลิกอิสระได้เป็นครั้งแรก ในวันที่ 6 มีนาคม 1899 ไบเออร์จดทะเบียนชื่อแอสไพริน เป็นเครื่องหมายการค้า แต่ก็ใช่ว่าปราศจากคู่แข่ง เพราะความจริงแล้วช่วงแรกยาแอสไพรินได้รับทะเบียนรับรองการค้าเฉพาะในสหรัฐฯ เท่านั้น ในอังกฤษและเยอรมันก็มีบริษัทต่างๆ พยายามจะจดสิทธิบัตรโดยอ้างว่าเป็นงานวิจัยของตน แต่หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรของฮอฟฟ์แมนน์ก็เหนือกว่า และเมื่อเขาเกษียณตัวเองในปี 1928 ยาแอสไพรินก็เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกแล้ว แต่ตัวฮอฟฟ์แมนน์กลับไม่มีใครรู้จักจนกระทั่งเขาเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 1946 ในสวิตเซอร์แลนด์


See: เรื่องของยาแอสไพริน 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น